โดนภาษีย้อนหลัง รับมืออย่างไรดีนะ?
ถ้าใครที่ยังไม่ได้ไปเสียภาษีหรือยื่นแบบภาษีประจำปีแล้วละก็ อย่านิ่งนอนใจนะ รีบเข้าไปเสียภาษีให้ตรงเวลากันด้วย ไม่อย่างนั้นจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังขึ้นมา งานงอกแน่ๆเลยนะ หลายๆคนอาจจะเพิ่งเคย เสียภาษีครั้งแรก หรือยังไม่ค่อยเข้าใจว่า การโดยเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมันเป็นยังไง ทำไมต้องมาเก็บฉันด้วย วันนี้เราเลยจะมาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกัน ว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณ คุณจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไรบ้าง
การเก็บภาษีย้อนหลัง คืออะไร
การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax) จะเกิดขึ้นหลังจากมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งจะเป็นการป้องปรามทางภาษีอากร โดยการตรวจสอบภาษีย้อนหลังจะดำเนินการโดย 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี คือ
กรมสรรพากร
กรมศุลกากร
กรมสรรพสามิต
ในที่นี้เราจะพูดถึง การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังโดย กรมสรรพากร เพราะ มันจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้เสียภาษีโดยกว้าง ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้ง ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือการเก็บภาษีทางอ้อม หรือ VAT ด้วยนั่นเอง
ทำไมถึงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง?
การที่คุณโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้น สันนิษฐานได้ว่ามาจาก 2 กรณี คือ
คุณยังไม่ได้จ่ายภาษี
คุณจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง
ซึ่งข้อที่ 2 นั้นจะมีความซับซ้อนกว่า เพราะ มันอาจจะเป็นไปได้หลายกรณีทั้ง การจ่ายภาษีไม่ครบ การระบุรายได้ไม่ถูกต้อง การโดนเรียกจ่าย VAT ย้อนหลัง หรือการที่คุณตั้งใจจะหลีกเลี่ยงภาษี
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตาม คุณไม่มีทางรอดสายตาของกรมสรรพากรไปได้หรอก เพราะเขาก็จะมีวิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังของเขาเช่นกัน
วิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร
ถึงแม้ ผู้เสียภาษี ในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่ใช่น้อย แต่กรมสรรพากรเขาก็มีวิธีตรวจสอบภาษีแบบทั่วถึงเช่นกัน มีวิธีอะไรบ้างไปดูกัน
1. การออกตรวจเยี่ยม
คือ การออกไปตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจอในกลุ่มผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจมากกว่า
2. การตรวจนับสต็อกสินค้า
ใช้กับผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งการนับสต็อกสินค้าจะทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้เสียภาษีครบถ้วนหรือไม่นั่นเอง
3. การสอบยันใบกำกับภาษี
การทำ ใบกำกับภาษีปลอม เป็นอีกหนึ่งวิธีหลีกเลี่ยงภาษียอดฮิต ดังนั้น กรมสรรพากรจึงใช้วิธีการตรวจสอบภาษีด้วยการสอบยันใบกำกับภาษี เพื่อดูว่ามีการปลอมขึ้นมาบ้างไหม จากนั้นจึงคิดคำนวณภาษีที่ถูกหลีกเลี่ยงไปพร้อมกับเรียกเก็บย้อนหลัง
4. การตรวจคืนภาษี
วิธีนี้จะใช้ตรวจภาษีกับบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นวิธีที่ทางกรมสรรพากรจะใช้บ่อยมาก
5. การตรวจค้น
วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมากและชัดเจน โดยจะเข้าทำการตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งยึดและอายัดบัญชีรวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีไว้ด้วย
6. การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี
กรมสรรพากรจะทำการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องส่งมอบบัญชีและเอกสารต่างๆ ให้พนักงานทำการตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีก็จะดำเนินการเรียกคืนภาษีย้อนหลังต่อไป
เห็นมั้ยว่า การหลีกเลี่ยงภาษีไม่ง่ายอย่างที่คุณคิด เพราะฉะนั้น จ่ายภาษีให้ถูกต้องและครบถ้วนตั้งแต่แรกดีกว่า
การตรวจสอบภาษีย้อนหลัง มีอายุความเท่าไหร่?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
สำหรับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ บุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคลนั้น จะมีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี แต่ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลนั้นจงใจ หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี จริง จะสามารถขยายเวลาขออายุความไปได้ถึง 5 ปี
นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเลยและถูกตรวจพบภายหลัง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเช่นกัน โดยจะยึดเอาตามระยะเวลาอายุความทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง
ภาษีธุรกิจ
กรณีที่เป็นภาษีธุรกิจจะ สามารถเรียกเก็บย้อนหลังได้มากถึง 10 ปี ตาม มาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกแต่อย่างใด ซึ่งอายุความเรียกเอาหนี้ภาษีอากรคืน จะนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการยื่นแบบภาษี
ไม่อยากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทำอย่างไรได้บ้าง?
ถ้าหากคุณโชคร้าย โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังขึ้นมา ในกรณีที่คุณผิดจริง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจาก ไปจ่ายภาษี แต่ถ้าคุณไม่ได้มีความผิดจริง ก็สามารถนำหลักฐานต่างๆไปเข้าพบกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เพื่อตรวจสอบความจริงต่อไป และสำหรับใครที่อยากจะแน่ใจว่าเราจะไม่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังแน่นอน มีวิธีง่ายๆมาแนะนำ ดังนี้
1.ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารเกี่ยวกับรายรับของตนเองให้เรียบร้อยก่อนยื่นภาษี
2.ตรวจสอบดูว่ารายรับของเราอยู่ในเงินได้ประเภทไหนกันแน่ (เนื่องจากมันมีผลกับการหักค่าใช้จ่าย)
3.ตรวจสอบรายการลดหย่อนที่มีสิทธิใช้ (เนื่องจากมีผลกับยอดคงเหลือเงินได้สุทธิ)
4.หาผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบความถูกต้องในการคำนวณภาษีอีกครั้ง