การเฉลี่ยภาษีซื้อ กิจการซื้อมาขายไป บริการ ผลิต

“ การเฉลี่ยภาษีซื้อ ” อย่างไรให้ถูกต้อง

“ การเฉลี่ยภาษีซื้อ ” อย่างไรให้ถูกต้อง

 กิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หลายแห่ง เมื่อก่อร่างสร้างตัวจนธุรกิจเจริญเติบโตขึ้น มักมีธุรกิจที่สร้างรายได้แตกต่างกันหลายประเภท เนื่องจากผู้ประกอบการมักเสาะแสวงหาสินค้าหรือบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและตรงใจให้มากที่สุด เพื่อยอดขายและกำไร จึงมีโอกาสที่รายได้ประเภทหนึ่งจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และรายได้อีกประเภทหนึ่งไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (NON VAT) ดังนั้น กิจการจึงต้องบริหารจัดการภาษีซื้อ โดย การเฉลี่ยภาษีซื้อ ที่เกิดขึ้นให้กับธุรกิจที่สร้างรายได้แตกต่างกันให้ถูกต้อง

                ยกตัวอย่างธุรกิจที่ประกอบกิจการร่วมกันและมีประเภทรายได้แตกต่างกัน เช่น

1. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (VAT) และธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (NON VAT)
2. ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (NON VAT) และธุรกิจบริการอำนวยความสะดวก (VAT)
3. ธุรกิจขายพืชผลการเกษตร (NON VAT) และธุรกิจส่งออกพืชผลทางการเกษตร หรือธุรกิจการแปรรูปสินค้าการเกษตร (VAT)
4. ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ (NON VAT) และธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ (VAT) เป็นต้น

ธุรกิจเหล่านี้จึงต้องตระหนักและทำความเข้าใจวิธีการและหลักเกณฑ์ใน การเฉลี่ยภาษีซื้อ อย่างถ่องแท้   

การเฉลี่ยภาษีซื้อ คืออะไร?

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 (2) นอกจากกรณีตามข้อ 5 ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ ดังนี้

                           (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเริ่มประกอบกิจการ หรือได้ประกอบกิจการมาแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ ให้ประมาณการรายได้ของกิจการทั้งสองประเภทของปีที่เริ่มมีรายได้

                                 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการรายได้ดังกล่าว และให้นำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขาย แต่ภาษีซื้อดังกล่าวจะต้องมีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ย

                                 สำหรับในปีถัดจากปีที่เริ่มประกอบกิจการและยังไม่มีรายได้ถึงสิ้นปีของปีที่เริ่มมีรายได้ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการรายได้ตามเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและวรรคสอง

                                 เมื่อสิ้นปีที่เริ่มมีรายได้ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนคำนวณภาษีซื้อที่หักได้จริงตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้ปรับปรุงภาษีซื้อที่ได้นำมาหักออกจากภาษีขายแล้วตามหลักเกณฑ์ตาม (2)

                                 ปีที่เริ่มมีรายได้ให้หมายถึง ปีแรกที่มีรายได้เกิดขึ้นจริงไม่น้อยกว่า 6 เดือนภาษี

                           (2) การปรับปรุงภาษีซื้อตาม (1) ให้กระทำในเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีสุดท้ายของปีที่เริ่มมีรายได้ โดยให้ปรับปรุงตั้งแต่เดือนภาษีแรกที่ได้มีการเฉลี่ยภาษีซื้อถึงเดือนภาษีสุดท้ายของปีที่เริ่มมีรายได้ ดังนี้

                                 (ก) ในกรณีภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้และได้นำมาหักออกจากภาษีขายแล้ว มีจำนวนเกินกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนชำระภาษีซื้อส่วนที่เกินนั้นพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งฉบับ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนภาษีที่มีการปรับปรุงภาษีซื้อและให้นำภาษีซื้อส่วนที่เกินนั้นซึ่งยังมิได้นำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายของกิจการ ไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายของกิจการในปีที่เกี่ยวข้อง

                                 (ข) ในกรณีภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้และได้นำมาหักออกจากภาษีขายแล้วมีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำร้องขอคืนภาษีซื้อส่วนที่ขาดนั้น ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และให้นำภาษีซื้อส่วนที่ขาด ซึ่งได้นำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายของกิจการแล้วไปหักออกจากมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายของกิจการในปีที่เกี่ยวข้อง

                           (3) สำหรับปีถัดจากปีที่เริ่มมีรายได้เป็นต้นไป ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้ออีก และในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภทก็ให้กระทำได้ ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ตาม (2) มาใช้บังคับโดยอนุโลมและเมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว ก็ให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้

                                 รายได้ของปีที่ผ่านมาตามวรรคหนึ่ง หมายถึง รายได้ของปีก่อนปีปัจจุบัน 1 ปี

                           (4) การปรับปรุงภาษีซื้อตามข้อนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อไรกิจการต้องมี การเฉลี่ยภาษีซื้อ ?

เมื่อกิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประกอบธุรกิจ VAT และ NON VAT  ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการนั้นเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใดจึงต้อง “เฉลี่ยภาษีซื้อ” ตามสัดส่วนของธุรกิจที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้

การเฉลี่ยภาษีซื้อ มีวิธีใดบ้าง?

 

1.     การเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ โดยการประมาณการสัดส่วนของรายได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งปี แล้วทำการปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วน เช่น ภาษีซื้อค่าซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง เช่น เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่ง สำนักงาน หรือวัสดุสิ้นเปลือง เป็นต้น และภาษีซื้อค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าโฆษณา หรือค่าซ่อมแซม เป็นต้น

2.  การเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามพื้นที่การใช้อาคาร โดยการประมาณการสัดส่วนการใช้พื้นที่อาคารแล้วทำการปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วน เช่น ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการ VAT และ NON VAT เป็นต้น

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 วิธีข้างต้นเป็นการประมาณการสัดส่วนเพื่อ การเฉลี่ยภาษีซื้อ จึงมีโอกาสที่สัดส่วนที่เกิดขึ้นจริงจะแตกต่างจากที่ประมาณการ ซึ่งส่งผลให้กิจการต้องปรับปรุงภาษีซื้อและอาจทำให้กิจการต้องเสียภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การเฉลี่ยภาษีซื้อ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกกิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และมักจะสร้างปัญหาในทางปฏิบัติต่อกิจการอยู่เสมอ เนื่องจากหลักเกณฑ์ใน การเฉลี่ยภาษีซื้อ ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน กิจการจึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะอาจจะต้องรับผิดชอบเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ อีกประการหนึ่ง หากกิจการเกิดปัญหาในทางปฏิบัติจนหาทางออกไม่ได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่ที่กิจการตั้งอยู่น่าจะให้คำแนะนำ และข้อเสนอแนะแก่กิจการได้เป็นอย่างดี

รายได้ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ต้องนำมารวมใน การเฉลี่ยภาษีซื้อ

                            (ก) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรา 91/2(1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร –– รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

(ข) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน – รายได้เงินกู้ยืมบริษัทในเครือเดียวกัน

(ค) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ – รายได้กองทุนเงินกู้ยืมสวัสดิการ

(ง) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร”