5 เรื่อง “ภาษีหุ้น” นักลงทุน คนอยากเล่นหุ้นต้องรู้ สรุปเสียภาษีอะไรบ้าง
หากเปรียบ “ภาษี” เป็นดั่งสึนามิที่ซัดเข้าหาผู้คนบนฝั่งอย่างถาโถมก็คงไม่ผิดนัก เพราะช่วงต้นปีแบบนี้เป็นเวลาที่ผู้มีรายได้ต้องยื่นภาษีกันแล้ว
แถมด้วยกระแสภาษีอื่นๆ ที่เริ่มมีการปรึกษาหารือปรับเปลี่ยน เพื่อเก็บภาษีเพิ่มอีกหลายรายการ อย่างเช่น “ภาษีคริปโตฯ” ที่กำลังมาแรง และตามมาติดๆ แบบไม่ยอมกันอย่าง “ภาษีขายหุ้น” เรียกว่าทำเอานักลงทุน นักเทรดหุ้นเริ่มหวาดหวั่นไม่น้อย
และบทสรุปภาษีขายหุ้นจะต้องเสียหรือไม่ อย่ารอช้าไปทำความรู้จักกัน
ภาษีหุ้น 2 แบบ ที่คุณต้องเสีย
เรื่องแรก ก่อนเข้าสู่วงการหุ้นที่นักลงทุนต้องรู้คือ เมื่อมีการขายหุ้นหรือมีกำไรจะต้องเสียภาษี ซึ่งภาษีหุ้นจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. Capital Gain Tax ภาษีกำไรจากเงินลงทุน คือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือกำไรที่ได้รับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
2. Financial Transaction tax ภาษีขายหุ้น หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ คือภาษีที่เก็บจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าหากมีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 0.1% ของมูลค่าขาย แต่ภาษีขายหุ้นนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534
“กำไร” จากการขายหุ้นต้องเสียภาษีเงินได้
เรื่องที่ 2 คือ เมื่อนักลงทุนมีกำไรจาการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสียภาษี ทั้งแบบที่เป็นบุคคลธรรมดา และอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา แม้ว่าในหลายประเทศจะมีการเก็บภาษีในส่วนนี้อยู่ แต่สำหรับประเทศไทยกำไรจากการขายหุ้น ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ มีการซื้อขายหุ้นที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น จึงจะได้รับการยกเว้นภาษี
ส่วนกรณีที่มีการขายหุ้นหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยมากกว่าหรือเท่ากับ 180 วันในปีภาษีนั้น จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย
2. นิติบุคคล กำไรจากการขายหุ้นที่อยู่ในรูปแบบบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล เมื่อมีการลงทุนในหุ้นและได้กำไรจากการขาย ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี จะต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหุ้นในตลาดหักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์
“เงินปันผล” ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
สัญญาณเตือนที่ 3 คือ เมื่อนักลงทุนมีการถือครองหุ้นก็จะต้องมีการจ่ายเงินปันผลให้ ดังนั้น นักลงทุนที่ได้รับเงินปันผล จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แยกตามประเภทดังนี้
1. บุคคลธรรมดา เงินปันผลที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% แต่จะได้รับการยกเว้นภาษี หากได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
แต่ในกรณีที่เงินปันผลถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ผู้ได้รับเงินปันผลสามารถเลือกได้ว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ (ใช้สิทธิ Final tax) หรือนำมารวมเป็นเงินได้คำนวณภาษีบุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี จากนั้นใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อขอคืนเงินภาษีที่จ่ายไปคืน (หากภาษีที่ถูกหักไประหว่างปี มากกว่ายอดภาษีที่ต้องชำระจริง)
โดยวิธีการนี้นักลงทุนต้องคำนวณให้ดี เพราะถ้าหากนำเงินปันผลที่ได้มารวม แล้วมีเงินได้สุทธิสูงจนต้องเสียภาษีเพิ่ม แทนที่จะได้ภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไปคืน ก็อาจไม่คุ้มหากตัดสินใจใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล
2. นิติบุคคล เงินปันผลที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นกัน แต่อาจจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ถ้ามีการถือครองหรือเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
- ผู้ได้รับเงินเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังจากวันที่ได้รับเงินปันผล
- ผู้ได้รับเงินได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้ได้รับเงิน
- ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
เรื่องที่ 4 คือ เมื่อนักลงทุนมีการซื้อขายจะต้องมีค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปตามที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการนั้นเรียกเก็บ
แต่ค่าธรรมเนียมนี้จะถูกบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก 7% ทำให้นักซื้อขายหุ้นต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมปกติอีก 7% นั่นเอง ส่วนการขายหุ้นไม่ถือว่าเป็นการขายสินค้า จะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต้องเสียภาษีขายหุ้น (ภาษีธุรกิจเฉพาะ) 0.1% ?
เรื่องที่ 5 คือ เมื่อนักลงทุนมีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสียภาษี (Financial Transaction tax) หรือเรียกว่า “ภาษีธุรกิจเฉพาะ”ซึ่งเดิมทีกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าหากมีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 0.1% ของมูลค่าขายก่อนหักรายจ่ายใดๆแต่ก็ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ต้องเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534
และภาษีธุรกิจเฉพาะนี้เองที่เป็นประเด็นโด่งดังอยู่ตอนนี้ ว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่นักลงทุนทั้งหลายเมื่อมีการขายหุ้นจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนี้โดยแนวทางที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเลือกมีอยู่ 3 กรณี ที่ถ้าหากมูลค่าขายหุ้นเกินจะต้องเสียภาษี 0.1% ซึ่งประกอบด้วย
1.เก็บจากมูลค่าขายเกิน 1 ล้านบาท/เดือน (ล้านละ 1,000 บาท)
2.เก็บมูลค่าการขายเกิน 1.5 ล้านบาท/เดือน (ล้านละ 1,500 บาท)
3.เก็บมูลค่าการขายเกิน 2 ล้านบาท/เดือน (ล้านละ 2,000 บาท)
และบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการจะเป็นผู้จัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ไว้ พร้อมนำส่งให้กรมสรรพากรแทนผู้ขายหุ้นเอง
แต่การจะกลับมาเก็บภาษีขายหุ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางกระทรวงการคลังยังต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่เหมาะสม แต่อย่างน้อยที่สุดอยากให้นักลงทุนเบาใจได้อย่างหนึ่งว่า สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีอยู่ถึง 85% จะไม่ได้รับผลกระทบจาการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นนี้อย่างแน่นอน