ทุนจดทะเบียนบริษัทคืออะไร

 

ตามความหมายเลย “ทุน” หมายถึงเงินที่ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนของบริษัทที่จะก่อตั้งนั้นจ่ายร่วมกันให้ครบ แล้วก็ได้เป็นเงินทุนจดทะเบียนบริษัทมาก้อนหนึ่งจากนั้นค่อยไปขอแจ้งจดที่กรมพัฒนาธุรกิจได้เลย ซึ่งธุรกิจที่จะเปิดนั้นต้องมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดไว้แบบนี้ 

แต่ละคนก็จะจ่ายตามสัดส่วนที่แต่ละคนลงทุนไปต้องไม่น้อยกว่า 5 บาท (หุ้น 5 บาทขึ้นไป) ซึ่งการจะตั้งเงินทุนเท่าไหร่นั้นก็ดูที่ขนาดของธุรกิจว่าจะต้องใช้เงินมากแค่ไหนจะได้หาทุนได้เหมาะสม เงินทุนตรงนี้นอกจากเป็นเงินใช้จ่ายในบริษัทแล้วยังบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทได้อีกด้วย

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1. บริษัทจำกัดคือบริษัทประเภทที่ตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้น มีมูลค่าหุ้นเท่า ๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
2. บริษัทจำกัด จะต้องมี จำนวนทุนเรือนหุ้น ซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่าของหุ้นเท่า ๆ กัน ไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ
3. จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทซึ่งคิดจะจดทะเบียนนั้น จะต้องมีผู้เข้าชื่ิอซื้อหรือออกให้กันเสร็จก่อน การจดทะเบียน
4. ก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัท กรรมการจะต้องเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น เสร็จก่อนจดทะเบียน (บริษัทจำกัดเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่าได้)
5.การจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัด จึงมีรายการจดทะเบียนเรื่อง ทุนชำระแล้ว ในรายการจดทะเบียนด้วย(แบบ บอจ.3)
6. เมื่อบริษัทรับเงินชำระค่าหุ้นไว้แล้ว ย่อมมีหน้าที่จะต้องลงบัญชีไว้เป็นหลักฐานตามหลักกฎหมายต่อไป

————————————————————————————————————————–

ความรับผิดของผู้ถือหุ้น ของบริษัท

มาตรา ๑๐๙๖* อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดรับผิดในมูลหนี้ของบริษัทเฉพาะมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ ส่วนกรรมการบริษัทจะรับผิดในมูลหนี้ของบริษัทอย่างไรนั้นให้ดูข้อเท็จจริงว่า การที่กรรมการไปก่อหนี้ดังกล่าวนั้นได้กระทำในฐานะส่วนตัวหรือกระทำในนามตัวแทนของบริษัท
ซึ่งผู้ถือหุ้นได้ให้ความเห็นชอบแล้ว     หากข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรรมการได้กระทำในนามส่วนตัวกรรมการผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ   แต่หากกรรมการได้กระทำในนามตัวแทนของบริษัทมูลหนี้ที่เกิดขึ้นบริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ