ภาษีส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าไปต่างประเทศ รายได้ เฉลี่ยภาษีซื้อ

ภาษีส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าไปต่างประเทศ รายได้ เฉลี่ยภาษีซื้อ

ปัญหาของกิจการส่งออก โดยสินค้าไม่ผ่านเข้ามาในประเทศ เป็นการสั่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปส่งให้ลูกค้าที่อยู่อีกประเทศ

ปัญหาภาษีที่เกี่ยวข้อง

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. การเฉลี่ยภาษีซื้อ
4. การจัดทำรายงานภาษีซื้อ/ ภาษีขาย

การส่งออก (อังกฤษ: export) หมายถึง การจัดส่งสินค้าและบริการจากต้นทางสู่ปลายทางในทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ โดยผู้ส่งสินค้าหรือบริการออกเรียกว่า “ผู้ส่งออก” ส่วนในทางการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกหมายถึง การขายสินค้าและบริการในประเทศไปสู่ตลาดอื่น (ตลาดสากล)

ในการส่งออกและนำเข้าซึ่งสินค้าจะต้องมีหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องด้วยคือ กรมศุลกากร แม้ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือส่งออกผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตเองก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับกรมศุลการกรด้วย และที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการนำเข้าและส่งออกของประเทศนั้น ๆ

ภาษีส่งออก : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ และขายสินค้าโดยไม่ผ่านประเทศไทย

เลขที่หนังสือ    : กค 0706/4610

วันที่   : 12 พฤษภาคม 2547

เรื่อง       : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ และขายสินค้าโดยไม่ผ่านประเทศไทย

ข้อกฎหมาย  : มาตรา 80/1(1), มาตรา 77/2, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)

ข้อหารือ

: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ นำเข้าและส่งออก ผลิต ขายส่ง ขายปลีก และให้บริการติดตั้งเครื่องฉาย เครื่องเสียงภาพยนตร์

ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้ามาขายให้กับลูกค้าในประเทศ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออก ไปต่างประเทศ และซื้อสินค้าในต่างประเทศขายไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามา ในราชอาณาจักร

บริษัทฯ หารือว่า
1. บริษัทฯ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากร

     1.1 การยื่นแบบ ภ.พ.30 ถือเป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ใช่หรือไม่
     1.2 การรับรู้รายได้จะรับรู้เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้วใช่หรือไม่

2. บริษัทฯ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศและส่งสินค้าไปให้ลูกค้าอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้นำ สินค้าเข้ามาในประเทศไทย โดยลูกค้าจะเปิด L/C มาให้บริษัทฯ ในประเทศไทย

     2.1 การยื่นแบบ ภ.พ.30 จะต้องแสดงยอดขายนี้หรือไม่ และต้องลง รายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร
     2.2 การรับรู้รายได้ตามวันที่บริษัทฯ ออก invoice ของบริษัทฯ ใช่หรือไม่

3. บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออย่างไร เมื่อมีการขายสินค้านอกประเทศและขายสินค้าใน ประเทศด้วย

4. บริษัทฯ ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดในการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรบริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงใน แบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

— การส่งออกที่ถูกต้องต้องผ่านศุลกากร จึงได้จะได้รับสิทธิ VAT ร้อยละ 0 การส่งออกที่ไม่ผ่านพิธีการจะไม่ได้รับสิทธิการยกเว้น รวมทั้งต้องมีใบขนสินค้าขาออกในนามกิจการเป็นเอกสารประกอบด้วย–

และกรณีบริษัทฯ รับรู้ รายได้ตามยอดขายในใบขนสินค้าขาออกถือเป็นการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิซึ่งราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นราคาสินค้าที่ได้มีการขายหรือส่งออกในขณะนั้น อันเป็นราคาที่เหมาะสมใน ขณะนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศและส่งไปให้ลูกค้าในต่างประเทศโดย ไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย

การขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้านอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร การยื่น แบบแสดงรายการ ภ.พ.30

              บริษัทฯ ไม่ต้องแสดงยอดขายดังกล่าวในแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 และ

              บริษัทฯ ไม่ต้องนำสินค้าดังกล่าวมาลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับการรับรู้รายได้จากการขายสินค้า ดังกล่าว

              บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิเมื่อบริษัทฯ ออก Invoice ของบริษัทฯ

                           (สินค้าไม่เข้าประเทศ เป็นการขายนอกราชอาณาจักร ไม่มี VAT ยืนรายได้ตาม Invoice)

3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตาม มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 153)ฯ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 

การเฉลี่ยภาษีซื้อ เนื่องจากมีการขายสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ การขายสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการเดียวกัน

4. กรณีตาม 4. การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องใช้ อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 65 ทวิ(5) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้: 67/32940

ภาษีส่งออก ข้อหารืออื่นที่เกี่ยวข้อง

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าในต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1802

 

วันที่: 3 มีนาคม 2549

 

เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าในต่างประเทศ

 

ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ข้อหารือ

:           บริษัท ล. จำกัด ประกอบกิจการผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา บางครั้งบริษัทฯ ผลิตสินค้าไม่ทันหรือมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ

           บริษัทฯ จะสั่งผลิตสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย

        1. ลูกค้าที่ยุโรปจะเปิด L/C มาที่บริษัทฯ ผ่านธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย และ

       2. บริษัทฯ จะเปิด L/C สั่งสินค้าไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่บริษัทฯ มีวงเงินกับธนาคารฯ ซึ่งเรียกว่า L/C Transfer

       3. เมื่อผู้ขายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนผลิตสินค้าเสร็จก็จะส่งสินค้าไปยุโรปโดยตรงโดยไม่ผ่านประเทศไทย

       4. บริษัทฯ จะออก Invoice เรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าที่ยุโรปตาม L/C ที่ลูกค้าสั่งซื้อ และ

       5. ผู้ขายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะออก Invoice เรียกเก็บค่าสินค้าจากบริษัทฯ       6. เมื่อลูกค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าโดยผ่านธนาคารฯ ธนาคารฯ จะดำเนินการโอนเงินต่อไปชำระค่าสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วออกใบรับเงินให้เฉพาะส่วนต่างและนำเงินเข้าบัญชีบริษัทฯ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

  1.    บริษัทฯ ต้องลงบัญชีรับรู้รายได้ตาม Invoice ที่บริษัทฯ เรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าในทวีปยุโรป และลงบัญชีชำระค่าสินค้าตาม Invoice ที่ผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกเก็บ หรือลงบัญชีรับรู้รายได้เฉพาะส่วนต่างเป็นค่านายหน้าเท่านั้น
  2.   หากบริษัทฯ ต้องลงบัญชีเป็นค่านายหน้าเฉพาะยอดส่วนต่าง บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ถูกต้องหรือไม่ และบริษัทฯ ต้องจัดทำรายงานภาษีขาย และแสดงยอดขายในแบบ ภ.พ. 30 หรือไม่ อย่างไร

 

แนววินิจฉัย:         

  1. กรณีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าตามเกณฑ์สิทธิเมื่อบริษัทฯ ออก Invoice แจ้งราคาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และให้บันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป
  2.   กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้าในต่างประเทศและขายสินค้านั้น ส่งมอบให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศโดยไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยตามข้อเท็จจริงข้างต้น การขายสินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้านอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องแสดงยอดขายดังกล่าวในแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 และไม่ต้องนำสินค้าในกรณีนี้มาลงรายการในรายงานภาษีขายแต่อย่างใด

 

เลขตู้: 69/33928

ขั้นตอนการรับรู้รายได้ / เอกสารการส่งออก / อัตราแลกเปลี่ยน (เบื้องต้น)

ที่มา เพจ ท่านอาจารย์ สุเทพ

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล “กิจการ” เป็นผู้ขายสินค้าโดยการส่งออกทางเรือเดินทะเล และได้มีการผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร นั้น ขอลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในทางบัญชีและภาษีอากรดังนี้

1. กรณีกิจการได้รับคำสั่งซื้อ (P/O: Purchase Order) จากผู้ซื้อในต่างประเทศ ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกแต่อย่างใด

2. กิจการได้ออกใบตราส่งสินค้า (Performa Invoice) เพื่อนำไปใช้ประกอบการขออนุมัติส่งออกต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร ณ จุดนี้ก็ยังไม่ถือว่ากิจการมีการขายสินค้าโดยการส่งออกเช่นเดียวกัน

3. กิจการขนย้ายสต๊อกสินค้าไปยังท่าเรีอเพื่อเตรียมการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า จึงยังไม่ถือเป็นการขาย แต่มีการเคลื่อนย้ายสต๊อกออกจากคลังสินค้า กิจการจึงต้องบันทึกตัดสินค้าที่เตรียมการส่งออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แต่เนื่องจากกิจการยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงต้องบันทึกรายการสินค้าไว้ในบัญชีสินค้าระหว่างทาง (Goods in Transit)

4. กิจการดำเนินพิธีการทางศุลกากร มีเอกสาร “ใบขนสินค้า” เกิดขึ้น ณ จุดนี้มีผลต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ

(1) ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นผลให้กิจการได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0%

(2) กิจการต้องบันทึกรายงานภาษีขาย ด้วยราคา เอฟ.โอ.บี. ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

– กรณีที่กิจการยังไม่ได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง “ธนาคาร” ได้

– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น

5. เมื่อมีการนำสินค้าลงเรือเดินทะเลเพื่อส่งไปให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ

(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ยังไม่ถือว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ จึงยังไม่มีการบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าแต่อย่างใด

(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร

– กรณีที่กิจการยังได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรือจะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง “ธนาคาร” ได้
– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น

6. เมื่อสินค้าถึงท่าเรือในต่างประเทศ

(1) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF ถือได้ว่า กิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ให้บันทึกรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร

– กรณีที่กิจการยังไม่ได้รับชำระราคาสินค้า ให้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ส่งมอบสินค้านั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง “ธนาคาร” ได้

– กรณีที่กิจการได้รับชำระค่าสินค้าไว้ก่อนแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ตามที่ได้บันทึกรายการรับชำระเงินค่าสินค้านั้น

(2) กรณีการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB เนื่องจากกิจการได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วตั้งแต่จุดที่ 5 แล้ว จึงยังไม่ต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าอีกแต่อย่างใด

7. เมื่อมีการรับชำระหนี้ค่าสินค้าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กิจการบันทึกการรับชำระราคาค่าสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันที่ได้รั้บชำระราคานั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น

8. เมือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากยังได้รับชำระหนี้ไม่หมด ให้กิจการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

(1) กรณีวันสินรอบระยะเวลาบัญชีตรงกันปีปฏิทิน กรมสรรพากรได้มีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยน ให้กิจการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่กรมสรรพากรได้ประกาศนั้นคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทย

(2) กรณีวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงกับปีปฏิทิน ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ (Buying Rate) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ของธนาคารพาณิชย์ที่กิจการใช้บริการอยู่นั้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามทีกิจการได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินตราไทยของธนาคารประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง “ธนาคาร” ได้

9. ในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปที่มีการรับชำระหนี้ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับรายการตามข้อ 7 ข้างต้น