กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท : ดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ ?

กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท: ดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ ?

           กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท  เนื่องจากการกู้เงินจากธนาคารใน นิติบุคคลติดเงื่อนไขที่ธนาคารไม่สามารถให้ สินเชื่อต่อกิจการได้โดยตรง โดยการกู้ยืมเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็น

           สินเชื่อที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ  เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิต หรือการลงทุนใหม่ ทั้งอาคาร โรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยธนาคารจะพิจารณาจัดรูปแบบของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ประเภทการใช้วงเงิน และระยะเวลาการชำระคืนที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น          

         สินเชื่อธุรกิจระยะสั้น   เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ และเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ       

        สินเชื่อธุรกิจระยะยาว  เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาการกู้เงิน 3 -10 ปี ขึ้นอยู่กับสถานะการเงิน และความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าแต่ละราย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น

  • ชำระหนี้เดิม (Refinance)
  • ขยายกิจการ สร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม โรงงาน/อาคารสำนักงาน รวมทั้งการซื้อสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ อาทิ เครื่องจักรในการผลิต ยานพาหนะ และอุปกรณ์ต่างๆ
  • ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อบ้านพักรับรอง ฯลฯ ซึ่งเป็นบริการที่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์และดอกเบี้ยเงินกู้ ยังถือเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจที่สามารถหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
    (ที่มา https://www.lhbank.co.th /สินเชื่อธุรกิจ SME)

กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการ ?

กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท  นั้นจะต้องมีความชัดเจนเป็นจริง ด้วยว่าการที่ กรรมการกู้ยืมงินแทนนิติบุคคล นั้น

        1.  เกิดขึ้นจริงและมีการรับรองจากบริษัท/ นิติบุคคล ในการที่ กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท / ห้างหุ้นส่วน

        2.  วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดำเนินงานของกิจการอย่างแท้จริง

        3.  มุ่งประโยชน์ในทางมุ่งค้าหากำไรเพื่อกิจการ

        4.  บริษัท/นิติบุคคลได้รับประโยชน์โดยตรง

การที่ กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัทต้องไม่เป็นการกู้ยืมมาเพื่อส่วนตัวกรรมการ หรือ กู้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ

           ดังนั้นรายจ่ายดอกเบี้ย จากการที่ กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท จะเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ และ เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี โดยกิจการต้องดำเนินการดังนี้

          หลักเกณฑ์รายจ่ายทางภาษี  และเอกสารหลักฐานในกรณีที่ กรรมการกู้ยืมเงิน แทนบริษัท ที่ควรมีในการลงบัญชีดังนี้

        1.มติที่ประชุมของนิติบุคคลแจ้ง ความจำเป็นให้กรรมการไปกู้ ธนาคารแทนกิจการ 

        2.สัญญากู้เงิน           2.1) คู่สัญญาระหว่าง ธนาคารกับกรรมการ 
                                         2.2) คู่สัญญาระหว่าง กรรมการกับกิจการ

        3. หลักฐานการรับเงินกู้ยืม และการบันทึกบัญชีเจ้าหนี้

        4. หลักฐานที่กิจการจ่าย ดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร 

ในการจ่ายชำระดอกเบี้ยตามงวด

          1.ใบสำคัญจ่าย ที่ระบุการจ่ายเงิน ไปยังธนาคารโดยตรงจากกิจการ (ก) สำเนาเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งขีดฆ่าผู้ถือและ ขีดคร่อม A/C Payee only ที่มีหลักฐานว่าได้ตัดบัญชี Bank statement ของผู้จ่ายเงินแล้ว หรือ (ข) สำเนาใบโอนเงินผ่านธนาคารหรือช่องทาง อิเล็กทรอนิกส์อื่น

           2.ใบเสร็จรับเงินจากธนาคาร ตรงกับวันที่จ่ายเงิน ในกรณีใบเสร็จรับเงินจากธนาคารจะเป็นชื่อกรรมการ ระบุถึงดอกเบี้ย และเงินต้นที่ชำระ

อ้างอิง หน้าที่ 3 ข้อ 3 คู่มือ การจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ จัดทำโดยกรมสรรพากร

ข้อหารือทางภาษี กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท

กค 0702/4071 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการ

ข้อหารือ

          บริษัทฯ มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการไม่เพียงพอ และไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารเพิ่มเติมได้อีก ที่ประชุม คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้กรรมการเป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยนำหลักทรัพย์ส่วนตัวไปค้ำประกันเงินกู้ – มีมติและรายงานการประชุมชัดเจนว่าต้องการดำเนินการอะไร

 

เพื่อนำเงิน มาให้บริษัทฯ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท โดยบริษัทฯ เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธนาคารแทน กรรมการ — วัตถุประสงค์เพื่อกิจการอย่างแท้จริง

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะนำรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ชำระให้ธนาคารแทนกรรมการดังกล่าว มาเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

          หากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า

1. กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ และ

2.เงินที่กู้มาจากธนาคารได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัทฯ รวมทั้ง

3.บริษัทฯ ได้รับรองว่าเป็นการกู้ยืมเงินในนามของบริษัทฯ และ

4. บริษัทฯ เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง

บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ จ่ายแทนกรรมการมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

กค 0706/3461 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรรมการบริษัทกู้เงินธนาคาร

ข้อหารือ

:            บริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคาร โดยใช้ชื่อกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้กู้ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้

            นาย ก. และนาย ธ. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคารโดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของนาย ก. จดทะเบียนจำนองการกู้ยืมเงิน และได้นำเงินที่กู้ยืมเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทฯ เพื่อปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว

ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนาย ก. โดยใบอนุญาตก่อสร้างเป็นชื่อของบริษัทฯ การที่ใช้ชื่อกรรมการเป็นผู้กู้ยืมเงินดังกล่าวเนื่องจากบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นใหม่ฐานะทางการเงินยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของธนาคารจึงต้องใช้ชื่อของกรรมการบริษัทฯ กู้เงินไปก่อน

            บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

           (1) บริษัทฯ มีสิทธินำใบรับค่าดอกเบี้ยนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่ อย่างไร (หากมีเอกสารอ้างอิงถึงการนำเงินกู้มาใช้เป็นค่าก่อสร้างอาคาร เช่น รายละเอียดการอนุมัติเงินกู้จากทางธนาคารที่ระบุงบที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้างอาคารของบริษัทฯ รายงานการประชุมการกู้เงินของกรรมการบริษัทฯ หนังสือจากธนาคารที่ระบุถึงการที่นิติบุคคลกู้ร่วมกับบุคคลธรรมดาไม่ได้ เป็นต้น

            (2) ใบรับค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการจดจำนองจากกรมที่ดิน กรณีใบรับใช้ชื่อเดียวกับใบรับตาม (1) สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

 

1. กรณีค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามข้อเท็จจริงกรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้กู้ยืมเงิน จากธนาคารเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ใช้เป็นสถานประกอบ กิจการของบริษัทฯ โดยการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินที่

บริษัทฯ ได้เช่ามาจากกรรมการฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวและ

เงินที่กู้มาจากธนาคารก็ได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัทฯ และ

บริษัทฯ ได้รับรองว่า เป็นการกู้ยืมในนามของบริษัทฯ ตามบันทึกรายงานการประชุมของผู้ถือหุ้น

ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง ซึ่งบริษัทฯ ต้องร่วมรับผิด ในการกู้ยืมเงินนั้นด้วย

ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ โดยตรง

แต่เนื่องจากได้จ่ายไปในระหว่างการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคาร ใช้การได้ตามสภาพ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวม คำนวณเป็นมูลค่าอาคาร เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารนั้นใช้การได้ตามสภาพ บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องจ่ายได้

            2. กรณีค่าธรรมเนียม และค่าอากรในการจดทะเบียนจำนอง ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีกรรมการนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนอง ซึ่งเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อปลูกสร้างอาคารใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรในการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว

หากปรากฏหลักฐานเป็นค่าใช้จ่ายของกรรมการบริษัทฯ ผู้จดทะเบียนจำนอง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ

บริษัทฯ ไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร