โอนทรัพย์สินเป็นทุน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โอนทรัพย์สินเป็นทุน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบทางภาษีอากร

ความแตกต่างระหว่างบริษัท และ ห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

รูปแบบ : เป็นการตกลงร่วมหุ้นทำกิจการและแบ่งกำไรกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีทั้งแบบรับผิดชอบแบบจำกัดและรับผิดชอบแบบไม่จำกัด บริหารงานโดยหุ้นส่วนผู้จัดการ มีกระบวนการต่างๆ ในการจัดตั้งและจดทะเบียน รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน มีความน่าเชื่อถือปานกลาง

สถานะภาพ : นิติบุคคล (ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)

การจัดทำบัญชีและงบการเงิน : ต้องจัดทำบัญชีและงบการเงิน

การเสียภาษี : เสียภาษีตามอัตราภาษีนิติบุคคล (คิดจากกำไรสุทธิ อัตราคงที่ 20 %) โดยต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้งคือ ภงด.50 และ ภงด.51

บริษัทจำกัด

รูปแบบ : เป็นการลงทุนผ่านการซื้อหุ้นที่มูลค่าเท่าๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 100 คน การรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจะจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินของมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ บริหารงานผ่านกรรมการบริษัท มีกระบวนการต่างๆ ในการจัดตั้งและจดทะเบียนที่ค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการจดทะเบีย มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมาก

สถานะภาพขององค์กร : นิติบุคคล (ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)

การจัดทำบัญชีและงบการเงิน : ต้องจัดทำบัญชีและงบการเงิน

การเสียภาษี : เสียภาษีตามอัตราภาษีนิติบุคคล (คิดจากกำไรสุทธิ อัตราคงที่ 20 %) โดยต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้งคือ ภงด.50 และ ภงด.51

ที่มา กองบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th 

โอนทรัพย์สินเป็นทุน – ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การจัดตั้งบริษัท / ห้างหุ้นส่วน ผู้ลงทุนมีสิทธิเลือกลงทุนได้ทั้ง เงิน ทรัพย์สิน และแรงงาน ดังในตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  มาตรา 1026 “ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นำมาลงด้วยนั้น จะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น
หรือลงแรงงานก็ได้”

     มาตรา 1108 “กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ
(1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท
(2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง อย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท
(3) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้
(4) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้น ๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
(5) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่า ได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วย  อย่างอื่นนอกจากตัวเงิน และกำหนด ว่าเพียงใดซึ่งจะถือเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
(6) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และ วางกำหนดอำนาจของคนเหล่านี้ด้วย”

โอนทรัพย์สินเป็นทุน – ราคาทรัพย์สินประเมินอย่างไร

โอนทรัพย์สินเป็นทุน

ทรัพย์สินหรือแรงงานที่จะนำมาลงทุนต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

1.  ต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการ
2. ราคาที่ใช้จะต้องตีราคาตามมูลค่ายุติธรรม (ตลาด)
3. ต้องเป็นสิ่งที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ยอมรับ

เพราะถ้าหากมีการตีราคาเกินจริง จะขัดแย้งกับ ตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยว กับ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499

     มาตรา 48 “ผู้ใดโดยทุจริต กำหนดค่าแรงงาน หรือทรัพย์สินที่นำมาลงในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด
แทนเงินค่าหุ้นให้สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

         การลงโดยแรงงาน ต้องเป็นไปตาม ระเบียบว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2549

     ข้อ 44 “หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้”

     ข้อ 45 “แรงงานที่จะนำมาตีราคาเป็นทุนจดทะเบียนในห้างหุ้นส่วน จะเป็นแรงงานที่ได้กระทำไปแล้ว หรือ กระทำภายหลังการจดทะเบียน
เป็นห้างหุ้นส่วนก็ได้

โอนทรัพย์สินเป็นทุน ประเด็นภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง

การนำทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โต๊ะ อุปกรณ์ออฟฟิศ รถบรรทุก เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แผนธุรกิจ สูตรลับต่างๆ โดยตีมูลค่าทรัพย์สินมาลงทุนในบริษัท

ถือเป็นการนำสังหาริมทรัพย์มาลงเป็นหุ้น โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท และผู้ถือหุ้นได้หุ้นเป็นค่าตอบแทน

ดังนั้นมูลค่าหุ้นที่ได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรและ

หากทรัพย์สินตามข้อเท็จจริงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยทางมรดก ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นั้นสามารถคำนวณได้จากปริมาณและมูลค่า

จึงถือได้ว่า ผู้โอนมีเจตนาได้มาโดยมุ่งในทางการค้า เข้าลักษณะเป็นการขาย สังหาริมทรัพย์ที่ได้มา โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เป็นเหตุให้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ถือหุ้นในบริษัทจะต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากมีมูลค่าเกินกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีขายด้วย

การนำทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์มาลงทุนนั้น

ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์สินอันเป็นมรดก หรือ สังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ที่มิใช่เรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือ แพ

ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร