ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2565
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ภาษีที่ดิน เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เช่น บ้าน อาคาร) ที่ครอบครอง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเก็บ1
ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 และจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยอัตราภาษีจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปีละ 0.01% ไปจนถึงปีละ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง2
ปี 2565 กระทรวงมหาดไทยประกาศเลื่อนเก็บภาษีที่ดินออกไปอีก 3 เดือน 3
การมาของ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทำให้ต้องยกเลิกการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีบำรุงท้องที่ด้วยเนื่องจากซ้ำซ้อนกัน4
ผู้เสียภาษี
ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ 1) เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือ 2) ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้5
ทั้งนี้ การดูว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะดูจากโฉนดที่ดิน ไม่ได้ดูตามทะเบียนบ้าน
ถ้าใครเป็นเจ้าของหรือครอบครองท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างอยู่ในวันท่ี 1 ม.ค. ของปีไหน ก็ให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นไป6 โดยผู้เสียภาษีจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าต้องจ่ายค่าภาษีทั้งหมดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคน ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อค่าภาษีดังกล่าว โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าค่าภาษีทั้งหมดว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่
ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าที่ดิน ส่วนเจ้าของสิ่งปลูกสร้างก็เสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง7
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี
โดยทั่วไป ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง (เช่น โกดัง บ้าน อาคาร ที่คนสามารถอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้) จะต้องเสียภาษีโดยใช้มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยแยกตามรายการดังนี้8
ท่ีดิน – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ท่ีดิน
ส่ิงปลูกสร้าง – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
ส่ิงปลูกสร้างท่ีเป็นห้องชุด (คอนโด) – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและส่ิงปลูกสร้าง อัตราภาษีท่ีจัดเก็บ และรายละเอียดอื่นท่ีจำเป็นในการจัดเก็บภาษีในแต่ละปี ณ สำนักงาน หรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีน้ัน9 โดยจะแสดงไว้ ณ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานที่อื่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงแสดงผ่านเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย10 ซึ่งโดยปกติแล้ว ราคาประเมินทุนทรัพย์จะเป็นราคาเดียวกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมท่ีดิน
กรณีที่ดินไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์
ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพคล้ายคลึงกันและมีระยะความลึกของแปลงท่ีดินใกล้เคียงกัน (กรณีเป็นที่ดินที่มีโฉนด หรือ น.ส. 3 ก.) หรือราคาที่ดินตามบัญชีกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครองของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นที่ (กรณีเป็นที่ดินไม่มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน)
ทั้งนี้ หากเป็นท่ีดินที่มีสภาพเป็นบ่อลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร บ่อท่ีเกิดจากการทําเหมือง และบ่อน้ําบาดาล ให้ใช้มูลค่า 25% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ส่วนที่ดินท่ีมีแนวเขตเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ให้ใช้มูลค่า 30% ของราคาประเมินทุนทรัพย์11
ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างของบัญชีเทียบเคียงส่ิงปลูกสร้างของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นท่ี แต่ถ้าเทียบเคียงไม่ได้จริงๆ (เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่มีในบัญชีสิ่งปลูกสร้างฯ จนเทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า สถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน ฯลฯ) ก็จะแจ้งให้ผู้เสียภาษีนําส่งเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงมูลค่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบการพิจารณากําหนดราคาของส่ิงปลูกสร้างและจัดทําเป็นบัญชีส่ิงปลูกสร้างท่ีมีลักษณะพิเศษต่อไป
อนึ่ง ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะคิดภาษีเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ไม่คิดจากทรัพย์สินอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรงงานก็นำเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษีโดยไม่รวมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี
วิธีคำนวณภาษี
การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น โดยใช้สูตรเบื้องต้น คือ12
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น = มูลค่าของฐานภาษี
มูลค่าของฐานภาษี × อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อนึ่ง กรณีที่ดินหลายแปลงมีอาณาเขตติดต่อกันและเป็นของเจ้าของเดียวกัน ให้คำนวณมูลค่าท่ีดินทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี13
การหักมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น
การหักมูลค่าของฐานภาษีเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งจะได้รับเฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น
ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน14 แต่ในกรณีที่มีหลายแปลงแต่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมากกว่า 1 แปลง ให้นำมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย ฿50 ล้าน โดยให้หักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างของแปลงที่มีมูลค่าสูงที่สุดก่อน แล้วหักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างท่ีมีมูลค่ารองลงมาตามลำดับ15
ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน16
บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿10 ล้าน17
วิธีเสียภาษี
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้วิธีประเมินภาษีโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินให้ และจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือน ก.พ. ของแต่ละปี18 และต้องชำระภาษีภายใน 30 เม.ย. ของปีนั้น19 ซึ่งค่าภาษีหากเป็นเงินก้อนตั้งแต่ 3,000 บาท สามารถขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดเท่าๆ กันได้เป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องยื่นหนังสือขอผ่อน ชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนชำระค่าภาษีงวดแรก20
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 มีประกาศลดเลื่อนกำหนดการชำระภาษีออกไปถึง 31 ก.ค. 2565 21
แบบประเมินภาษีจะประกอบด้วย
รายการที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้าง
ราคาประเมินทุนทรัพย์
อัตราภาษี
จำนวนภาษีที่ต้องชำระ
สถานที่ชำระภาษี
เทศบาล ชำระที่สำนักงานเทศบาล
อบต. ชำระที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
กทม. ชำระที่สำนักงานเขต
เมืองพัทยา ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
อย่างไรก็ดี ผู้บริหารท้องถิ่นอาจกำหนดให้ใช้สถานท่ีอื่นภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้ันเป็นสถานที่สำหรับชำระภาษีได้ตามท่ีเห็นสมควร22
วันที่ชำระภาษีโดยปกติจะให้ถือเอาตามวันที่พนักงานเก็บภาษีลงลายมือช่ือในใบเสร็จรับเงิน23 แต่ถ้าชำระโดยวิธีอื่น เช่น ชำระโดยผ่านทางธนาคารให้ถือว่าวันท่ีธนาคารได้รับเงินค่าภาษีเป็นวันท่ีชำระภาษี24
การขอเงินคืนภาษี
ในกรณีที่คุณเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าจำนวนท่ีต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเองหรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณมีสิทธิขอเงินคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ชำระภาษีโดยยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น25
ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินภาษีผิดพลาด คุณมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน (เศษของเดือนของเงินปัดเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีท่ีได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอรับคืนเงินจนถึงวันที่คืนเงิน ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่จะได้รับคืน26
อัตราภาษี
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดอัตราภาษีจำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี27 ทั้งนี้ อัตราภาษีจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น
อนึ่ง หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ในท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างแต่ละประเภท28
หมายเหตุ เมื่อปี 2564 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดภาษีให้อีก 90% ของค่าภาษีที่ต้องชำระ ทำให้เหลือค่าภาษีที่ต้องชำระเพียง 10% เท่านั้น 29