ภาษีย้อนหลัง…เรื่องจริงที่ไม่มีใครอยากเจอ
เมื่อฤดูกาลยื่นภาษีมาถึง ในฐานะพลเมืองที่ดีต่างก็วุ่นวายหาเอกสารประกอบการยื่นภาษีกันมือเป็นระวิง สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งจะมีโอกาสยื่นภาษีเป็นครั้งแรกในปีนี้ หรือบางคนที่อาจไม่เคยยื่นภาษีมาก่อนเลย ต้องระมัดระวังให้ดีทีเดียว ยิ่งถ้าใครได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็คงเคยผ่านตามาบ้างกับกรณีผู้โชคดีได้รับรางวัลเป็นทองคำมูลค่า 10 ล้านบาท แต่โดนสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นล้าน! ด้วยความไม่รู้ว่ารางวัลก็นับเป็นรายได้อย่างหนึ่ง เห็นมั้ยว่าเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ แต่หลายคนก็ยังพลาดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากเจอภาษีย้อนหลังแน่ ๆ
เราซึ่งเป็นบุคคลผู้มีรายได้ จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในแต่ละปี เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์โดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ฉะนั้นมาทำความรู้จักกับคำว่า การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax) ซึ่งเป็นการตรวจสอบการยื่นภาษีเพื่อป้องกันและปราบปรามทางภาษีอากร โดยมี 3 หน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต แต่ที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคือ กรมสรรพากร ที่มีกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจ
โดยที่คุณจะเข้าข่ายโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หากคุณไม่จ่ายภาษี และจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง หรือเลี่ยงภาษี จ่ายภาษีไม่ครบตามที่ระบุ เป็นต้น แล้วกรมสรรพากรจะทราบได้อย่างไร? เขามีวิธีการตรวจสอบ ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ การตรวจแนะนำด้านภาษี ขั้นตอนต่อมาคือ การเตือนให้ยื่นแบบ ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์และการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี ขั้นตอนที่ 4 การตรวจปฏิบัติการ และขั้นตอนสุดท้ายคือ การออกหมายเรียก ซึ่งลำดับขั้นความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับไป แต่เรามีวิธีง่าย ๆ มาแนะนำ เพื่อที่คุณจะไม่โดนภาษีย้อนหลังอย่างแน่นอน
1. ยื่นภาษีทุกปี
หลาย ๆ คนที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน คิดว่าตัวเองเงินเดือนไม่ถึงจึงไม่ต้องยื่นภาษี แต่จริง ๆ แล้ว เรามีรายได้เท่าไหร่ก็ต้องยื่นภาษี เพื่อความปลอดภัยเราควรยื่นภาษีทุกปี และต้องตรวจสอบเอกสารรายรับของเราให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนยื่นภาษี ที่สำคัญต้องดูว่ารายรับของเราอยู่ในเงินได้ประเภทไหน และอย่าลืมใช้สิทธิ์การลดหย่อนภาษียิ่งถ้าคุณลงทุนโดยการซื้อกองทุน หน่วยลงทุนต่าง ๆ ไว้ คุณอาจได้เงินคืนภาษีด้วย
2. ทำบัญชีรายเดือน
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน นอกจากช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายของเราแล้ว ยังทำให้เรามีหลักฐานการมีรายได้เพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษีในแต่ละปีได้อีกด้วย บางคนมีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน ก็ต้องนำมายื่นภาษีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คุณยังสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีแบบเฉลี่ยเป็นรายเดือนได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงช่วงปลายปี เป็นการจัดการและบริหารบัญชีแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
3. ติดตามข่าวสารเรื่องภาษี
คุณควรที่จะติดตามข่าวสารเรื่องการยื่นภาษี เพราะแต่ละปีจะมีกฎหมาย หรือเงื่อนไขใหม่ๆ ออกมา ที่อาจเป็นผลประโยชน์ต่อเราในการลดหย่อยภาษี ถ้ามีข้อสงสัยแนะนำให้สอบถามไปยังกรมสรรพากร สามารถเช็กยอดภาษี วิธีการตรวจภาษี การขอลดค่าปรับ หรือการขอเงินเพิ่ม ถ้าจะให้ดีเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรเพื่อความถูกต้องกันเลย http://www.rd.go.th/publish/272.0.html
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ถ้าเราบังเอิญลืมยื่นภาษีหรือยื่นภาษีล่าช้า จะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง ซึ่งบทลงโทษและค่าปรับจะลดหลั่นกันไปตามความผิด ดังต่อไปนี้
1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ มีค่าปรับดังนี้
เสียเบี้ยปรับ 0.5 – 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีค่าปรับดังนี้
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
เสียเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีค่าปรับดังนี้
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน
เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
4. หนีภาษี มีค่าปรับดังนี้
มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี
เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
เห็นบทลงโทษแล้วก็มีหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะกรณีของการหนีภาษีแบบจงใจ ทั้ง ๆ ที่เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทย แต่พบว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งเพิกเฉยและขาดความรู้เรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจและหมั่นศึกษาไปพร้อม ๆ กับการวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำการยื่นภาษีอย่างถูกต้องทุกปี เพราะการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากเจอแน่นอน