สินค้าสูญหาย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าใช้จ่ายกิจการ

การลักทรัพย์

การลักทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไป โดยต้องการจะครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เพื่อตนเองเอาไปขายหรือให้กับบุคคลอื่นก็ตามแต่ ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท

การลักทรัพย์นั้นถ้าผู้กระทำได้กระทำในเวลากลางคืนหรือในบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด หรือในบริเวณที่มีอุบัติเหตุผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวจะต้องถูกระวางโทษหนักขึ้นกว่าการลักทรัพย์ในเวลา สถานที่หรือเหตุการณ์ปกติ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุการณ์ หรือช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของทรัพย์กำลังได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถที่จะดูแลทรัพย์ของตนเองได้และการกระทำในเหตุการณ์หรือช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมเจ้าของทรัพย์ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน

ที่มา http://www.taparnhin.phichit.police.go.th

การยักยอกทรัพย์ คือ

    ตามกฎหมาย การยักยอกทรัพย์ว่า “เป็นการนำทรัพย์ของคนอื่นแล้วเบียดเบียนเอาไปเป็นของตนเอง เช่น ทรัพย์ที่ฝากไว้ หรือเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของเรา แต่ไม่ใช่ของเรา เอาไปขายหรืออะไรก็ตามแต่ เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์”

เมื่อยักยอกทรัพย์ไปแล้วและนำมาคืน ความผิดจะสำเร็จนับตั้งแต่วันที่ยักยอกไป เมื่อนำมาคืนเรียกว่าเป็นการบรรเทาผลร้าย ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิด ศาลอาจจะเห็นใจลดโทษให้ อีกทั้ง คดียักยอกทรัพย์เป็นคดีที่สามารถยอมความได้

  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ มิฉะนั้นแล้วคดีจะขาดอายุความ เมื่อฟ้องคดีผู้นั้นไปต่อศาล ในคดีอาญานั้นถ้าคดีขาดอายุความ ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย

          ตัวอย่าง คดีที่มีลักษณะเป็นความผิดอันยอมความได้ ได้แก่ ยักยอกทรัพย์  ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้  ทำให้เสียทรัพย์  บุกรุก  หมิ่นประมาท  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นต้น คดีเหล่านี้ต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 3 เดือนเท่านั้นนะครับ

ที่มา https://www.closelawyer.com

สินค้าสูญหาย – โจรกรรม มีหลักฐานการแจ้งความครบถ้วน

เลขที่หนังสือ: กค 0706/34060

วันที: 5 เมษายน 2549

เรื่อ: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสินค้าของบริษัทฯ สูญหาย

ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1 และมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

:            บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อมา ขายไป เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 สินค้าของบริษัทฯ บางส่วนถูกโจรกรรมไป บริษัทฯ ได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ จึงขอทราบว่า

             1. กรณีสินค้าของบริษัทฯ สูญหาย เนื่องจากถูกโจรกรรมไปถือเป็นผลเสียหายที่บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าสินค้าดังกล่าวมาบันทึกเป็นผลเสียหาย ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่

             2. สินค้าถูกโจรกรรมไป อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม

             3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

:            1. กรณีสินค้าที่ซื้อมาเพื่อขายสูญหาย เนื่องจากถูกโจรกรรม และบริษัทฯ ได้แจ้งความไว้แล้ว หากสินค้าที่สูญหายดังกล่าวไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ย่อมถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวน ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สินค้านั้นได้สูญหายจริง

            2. กรณีสินค้าสูญหาย เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าวตามมาตรา 79 และมาตรา 79/3(3) แห่งประมวลรัษฎากร

            3. ภาษีซื้ออันเกิดจากสินค้าที่สูญหายเนื่องจากถูกโจรกรรมไปนั้น เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ หากไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้

เลขตู้:69/34060

ปัญหาภาษี หลักกฎหมาย ข้อหารือ
สินค้าสูญหาย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าใช้จ่ายกิจการ

กค. 0706/พ./6444 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสินค้าสูญหายเนื่องจากถูกลักขโมย

 บริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายเศษโลหะทุกชนิด โดยรับซื้อจากหลายแหล่งนำมาคัดแยกแล้วอัดเป็นก้อนเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

    ในระหว่างปี 2547 บริษัทฯ ถูกโจรกรรมในเวลากลางคืน และสินค้าของบริษัทฯ ถูกลักขโมย ในวันรุ่งขึ้น บริษัทฯ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุภายในโรงงานเพื่อติดตามจับกุมคนร้าย (หลักฐานเพื่อพิสูจน์ความสูญหารที่เกิดขึ้น )  

   ต่อมา สถานีตำรวจนครบาล แจ้งว่า พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นให้งดการสอบสวน โดยส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งพนักงานอัยการมีความเห็นให้งดการสอบสวน และมีคำสั่งให้งดการสอบสวน

        บริษัทฯ ขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังต่อไปนี้

        1. สินค้าของบริษัทฯ ที่ถูกขโมยเป็นสินค้าที่ไม่มีประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ มูลค่าของสินค้าที่สูญหายดังกล่าว ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ไม่ถือเป็นการขายที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

        2. บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่สูญหายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร

        3. สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากการถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่สูญหายดังกล่าว

        4. ภาษีซื้อของสินค้าที่ถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1.กรณีตาม 1 และ 2 สินค้าของบริษัทฯ สูญหาย และบริษัทฯ มีหลักฐานแจ้งชัดว่าสินค้าดังกล่าวถูกโจรกรรม ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ผลเสียหายดังกล่าวไม่มีประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

     บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกโจรกรรม มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่การดำเนินคดีความสิ้นสุด
    (หายเมื่อไหร่ แจ้งความดำเนินคดีอาญา นำมาบันทึกค่าใช้จ่ายตามรอบบัญชีนั้น)

และหากภายหลังบริษัทฯ ได้รับสินค้าคืนหรือได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนสินค้าหรือจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระมาถือเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

        2. กรณีตาม 3 สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากถูกโจรกรรม สินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ(9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 จากมูลค่าของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) และมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร

        3. กรณีตาม 4 หากบริษัทฯ ได้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่น ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นต้องห้าม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร