ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างไร

ส่วนลดจ่าย หรือค่าลดหย่อน การส่งเสริมการขายแคมเปญการขาย Flexi comBo Flash Sale  การขายแบบให้ส่วนลดลูกค้าหลังจากนั้นช่องทางการขายจะโอนส่วนลดที่ให้ลูกค้าคืนกลับให้บริษัท เป็นรายการที่พบเจอได้ตลอดเวลาสำหรับร้านค้า Online  ที่ขายสินค้าบน  MarketPlaces  ต่าง

     ทั้งนี้สรรพากรมีหลักการในการออกส่วนลดให้ปรากฎในใบกำกับภาษีไว้ดังนี้

————————————————————————————————————————–

การให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษี ดังนี้

ตัวอย่างการออกใบกำกับภาษี กรณีให้ส่วนลด ตอนขายสินค้าและบริการ

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายรถยนต์กระบะมูลค่า 350,000 บาทได้ให้ส่วนลดแก่ผู้ที่ซื้อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2542 จำนวน 5,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่ารถยนต์กระบะ 350,000 บาท หักด้วยส่วนลด 5,000 บาท คงเหลือมูลค่ารถยนต์กระบะ 345,000 บาท

(ข) นายอำนาจซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้ามูลค่า 5,000 บาทห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 5,000 บาท ห้างฯได้แจกคูปองมูลค่า 250 บาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไปโดยไม่จำกัดประเภทสินค้า ถ้าสินค้าชิ้นใหม่มูลค่า 1,000 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามคูปอง 250 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 750 บาท

(ค) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท จะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์ดังกล่าวใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามประเภทที่กำหนดได้ เช่น แสตมป์ 50 ดวง มีสิทธิซื้อพัดลมมูลค่า 1,000 บาท โดยชำระเงิน 700 บาท กรณีดังกล่าว ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามแสตมป์ 50 ดวง มูลค่า 300 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 700 บาท

(ง) โรงแรม เอ.เอ็ม ประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคารเมื่อลูกค้าใช้บริการห้องพักและอาหารมูลค่า 15,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 15,000 บาท โรงแรมฯมอบบัตรกำนัลให้จำนวน 1,000 บาท ต่อมาลูกค้าใช้บริการภัตตาคาร 3,000 บาท ชำระเงินสด 2,000 บาท และบัตรกำนัล 1,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 3,000 บาทหักด้วยมูลค่าตามบัตรกำนัล 1,000 บาท คงเหลือมูลค่าของบริการ 2,000 บาท

ตัวอย่างการออกใบกำกับภาษี กรณีให้ส่วนลด หลังขายสินค้าและบริการ

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งมูลค่า 350,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระค่าสินค้าว่า ถ้าชำระภายใน 2เดือน จะลดให้ 2,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 350,000 บาท

(ข) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท ผู้ซื้อจะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์มารับของรางวัลจากห้างฯตามประเภทที่กำหนด เช่น แสตมป์ 20 ดวง มีสิทธิได้รับชามแก้วมูลค่า 400 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 400 บาท

อย่างไรก็ดี ถ้าการให้ส่วนลดตามเป้ามีเงื่อนไขว่า จะแจกสินค้าเป็นรางวัลให้แก่ผู้ซื้อสินค้า เฉพาะกรณีซื้อสินค้าในแต่ละวันโดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าที่แจกเป็นรางวัล ทั้งนี้ ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่าง ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 2,000 บาท ในแต่ละวัน ผู้ซื้อมีสิทธิได้รับตะกร้า 1 ใบ ห้างฯไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของตะกร้าดังกล่าว

ข้อสอบถามปัญหาเกี่ยวกับส่วนลด Shopee lazada

ใบกำกับภาษี Dropship Shopee ส่วนลดลูกค้า ส่วนลดของใคร เราต้องรวมยอดออกใบกำกับภาษี?????
Inbox: พุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15:34 น.
คุณ Phasit Jaikong

เรียนสอบถามอาจารย์ครับ

ห้างหุ้นส่วนจำกัด N เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ Shopee โดยปกติการขายจะเป็นดังนี้ครับ

ราคาขายสินค้า 1,000 บาท ค่าขนส่งที่ชำระโดยผู้ซื้อ 50 บาท ห้างฯ ให้ส่วนลดผู้ซื้อ 100 บาท Shopee ให้ส่วนลดผู้ซื้อ 70 บาท

ลูกค้าชำระเงินทั้งสิ้น 880 บาท (1,000+50-100-70) เมื่อห้างฯ ดำเนินการจัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินจากทาง Shopee ทั้งสิ้น 950 บาท (1,000+50-100)

ขอเรียนสอบถามอาจารย์ว่า
1. ห้างฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อด้วยจำนวนใดครับ (880 บาท หรือ 950 บาท)
2. ส่วนลดที่ Shopee ลดให้ผู้ซื้อ 70 บาท เมื่อห้างฯได้รับเงิน ห้างฯมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่ครับ
ขอบพระคุณครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ เว็บไซต์ Shopee ดำเนินการเป็น Dropship ในลักษณะที่เป็นนายหน้าตัวแทนที่เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากห้างฯ ผู้ขายสินค้า โดยเรียกรับเงินค่าสินค้าแทนห้างฯ ผู้ขายด้วย

1. ห้างฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อด้วยจำนวน 950 บาท (1,000 +50 – 100)
2. ส่วนลดที่ Shopee ลดให้ผู้ซื้อ 70 บาท เป็นส่วนของ Shopee ที่ตกลงให้ส่วนลดกับผู้ซื้อ หากไม่มีข้อตกลงเป็นประการอื่น ก็ย่อมไม่เกี่ยวข้องอันใดกับห้างฯ Shopee ต่างหากที่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีค่าคอมมิชชั่นให้แก่ห้างฯ เช่น ราคาสินค้า 1,000 บาท ตกลงค่าคอมมิชชั่น 15% คิดเป็นเงิน 150 บาท Shopee ต้องออกใบกำกับภาษีตามจำนวนนี้ใหแก่ห้างฯ แม้ Shopee จะให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อเป็นเงิน 70 บาทก็ตาม
รบกวนสอบถาม เรื่องเงินสนับสนุนส่งเสริมการขายหน่อยนะคะ ได้โปรดให้คำแนะนำด้วยค่ะ
Inbox: พฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562 เวลา 15:28 น.
คุณ Choo Chu “ชุติมา”
เรียน อาจารย์สุเทพ
รบกวนสอบถาม เรื่องเงินสนับสนุนส่งเสริมการขายหน่อยนะคะ

บริษัทฯ เป็นตัวแทนการขายสินค้า (Trading) ได้นำสินค้าไปเข้าร่วมการขายกับทาง ร้านค้าออนไลน์ เช่น shopee lazada

ซึ่งในสัญญากับ ร้านค้าออนไลน์ ระบุชัดเจนว่า “ไม่มีสัญญาการขายใดๆ ระหว่าง ร้านค้าออนไลน์ และผู้ซื้อ” ดังนั้นการซื้อขายสินค้าที่เกิดขึ้นจะเป็นระหว่างผู้ซื้อและบริษัทฯ เสมือน ร้านค้าออนไลน์ เป็นเพียงตัวกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ร้านค้าออนไลน์ จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้า

แต่เนื่องจากว่า ทาง ร้านค้าออนไลน์ ได้จัดทำรายการส่งเสริมการขาย โดยให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ซื้อผ่าน ร้านค้าออนไลน์ ตัวอย่างเช่น สินค้าราคา 10,000 บาท ร้านค้าออนไลน์จะให้ส่วนลดแก่ลูกค้า 2,000 บาท ดังนั้นลูกค้าจะจ่ายค่าสินค้าเพียง 8,000 บาท แก่ ร้านค้าออนไลน์แล้ว ร้านค้าออนไลน์ก็จะโอนเงินให้ทางบริษัทฯ จำนวน 10,000 บาท (อาจจะมีการหักค่าคอมมิชชั่นตามที่ตกลงกัน) ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน

คำถาม
1. กรณีดังกล่าว ถือเป็นการที่บริษัทฯ ขายสินค้าให้ลูกค้า ดังนั้นจะต้องออกใบกำกับภาษี แต่เนื่องจากว่า การขายดังกล่าวมีส่วนลด จึงไม่แน่ใจว่า ทางบริษัทฯ ควรออกใบกำกับภาษีที่จำนวน 8,000 บาท หรือ 10,000 บาท
2. หากว่าเป็นกรณีที่ทางบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าเพียง 8,000 บาท บริษัทจะต้องออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ทาง ร้านค้าออนไลน์จำนวน 2,000 บาทแทนเนื่องจากเป็นรายได้ส่งเสริมการขาย และกรณีดังกล่าวจะต้องหัก ณ ที่จ่าย หรือไม่คะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์นะคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
1. กรณีดังกล่าว ถือเป็นการที่บริษัทฯ ขายสินค้าให้ลูกค้า ดังนั้น ทางบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีที่จำนวน 10,000 บาท

2. เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) ตามที่ตกลงกัน บริษัทฯ จึงจะมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของค่านายหน้าดังกล่าว

Comment เพิ่มเติมเพื่อพิจารณา

ส่วนตัว คิดว่า
1.ห้างฯ ออก inv.ให้ผู้ซื้อ 880 บาท (ตามเงินที่จ่าย)
2.ใน 880 รวมค่าขนส่งไปแล้ว 50 บาท เพราะฉะนั้น ห้างฯ จะได้ inv. จากขนส่ง 50บาท(880-50=830)
3.Shopee จะจ่ายเงินให้ ห้างฯ 70 บาท (ส่วนลดผู้ซื้อ) เพราะฉะนั้น ห้างต้องออก inv.ให้ Shopee 70 บาท (880-50+70=900 เงินที่ห้างจะได้รับ)
4.ค่าธรรมเนียมต่างๆ shopee คิดเท่าไหร่ ก็ต้องออก inv.ให้กับ ห้าง ตามนั้น
***ความเห็นส่วนตัวนะครับ
ลาซาด้าเปิดใบกำกับภาษีค่าธรรมเนียม + ค่าขนส่งมาให้ใน 1 ใบกำกับ
Inbox: พฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 14:40 น.
คุณ Fumfueai Aoi
สวัสดีค่ะอาจารย์ รบกวนสอบถามปัญหาการบันทึกบัญชีค่ะ
เป็นนิติบุคคลขายสินค้าผ่านลาซาด้า ลาซาด้าเปิดใบกำกับภาษีค่าธรรมเนียม + ค่าขนส่งมาให้ใน 1 ใบกำกับค่ะ แต่ว่าแยกรายการค่าส่ง กับค่าธรรมเนียม คนละรายการ แต่ปัญหาคือว่า ค่าขนส่งลูกค้าเป็นผู้จ่าย แต่ว่าลาซาด้าออกใบกำกับให้บริษัทฯ ผู้ขายซึ่งผู้ขายจ่ายแค่นิดเดียวไม่ไม่ได้จ่ายทั้งหมด จะสอบถามว่าบริษัทฯ ผู้ขายต้องบันทึกบัญชียังไงคะ แล้วภาษีซื้อที่เกิดขึ้นสามารถเคลม vat ได้หรือไม่คะ
กราบขอบพระคุณนะคะหนูลงบัญชีไม่ถูกจริงๆ ค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:

การบันทึกบัญชีต่างๆ ให้บันทึกไปตามข้อเท็จจริงตามรายการทางธุรกิจ (Business Transaction) โดยยึดหลักการบัญชีทุกเดบิต ย่อมมีเครดิตด้วยจำนวนที่เท่ากัน ด้านเดบิต ประกอบด้วย สินทรัพย์และค่าใช้จ่าย และด้านเครดิต ประกอบด้วย รายได้ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ใครๆ ก็ทราบ (ไม่เห็นจะยาก)

สำหรับรายการค่าขนส่ง และค่าธรรมเนียม ตามหลักฐานใบกำกับภาษีที่ได้รับจาก Lazada นั้น เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร ก็ให้บริษัทฯ นำบันทึกรายการค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน แต่บริษัทฯ ไม่จ่ายทั้งหมด ส่วนต่างก็ให้บันทึกเป็นส่วนลดรับเพิ่มเข้าไปอีก (คุณไม่มีทางไล่นักบัญชีให้จนในการบันทึกรายการทางบัญชีได้โดยเด็ดขาด)