ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าลดหย่อน เงินบริจาค​​

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าลดหย่อน เงินบริจาค​​ ความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ “ค่าลดหย่อนภาษี” มันคือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว”

คำสั่งกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าลดหย่อน เงินบริจาค​​

17. เงินบริจาค

– เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

– เงินบริจาคสาธารณประโยชน์ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

ได้แก่ เงินบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
เงินบริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
เงินบริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก
เงินบริจาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา และ
เงินบริจาคเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาสิ่งปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุหรือกองทุนโบราณคดี และเงินบริจาคให้สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน (แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ)

– เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

ถาม – ตอบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าลดหย่อน เงินบริจาค​​

ข้อแตกต่างในการหักลดหย่อนระหว่างการบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาและเงินบริจาค

คำถาม :   ใบอนุโมทนาบัตรเขียนว่า “มอบเงินเพื่อเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรและถวายทุนการศึกษา” ของโรงเรียนวัดรัฐบาล ถือเป็นเงินบริจาคหรือสนับสนุนเพื่อการศึกษา

คำตอบ :   ถือว่าเป็นเงินบริจาค ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาต้องเป็นการจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและเป็นค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547

ภริยามีเงินได้ ในระหว่างปีภาษีบริจาคเงินไว้ และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมกับสามี

คำถาม :   สามีมีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและเงินได้ประเภทอื่น ซึ่งสามารถเลือกนำ มาคำนวณภาษีได้ และภริยามีเงินได้หลายอย่าง รวมทั้งมีเงินได้จากเงินฝากธนาคารและเงินปันผลด้วย และสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินบริจาค ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ของสามีระบุว่า คู่สมรสมีเงินได้รวมคำนวณ จะหักลดหย่อนเงินบริจาคอย่างไร

คำตอบ :   การหักลดหย่อนเงินบริจาค กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(7)(ก)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีสามีและภริยามีเงินได้ทั้งสองฝ่าย กฎหมายกำหนดให้ถือว่า เงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และสามีเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี โดยถือว่าสามีและภริยาเป็นหน่วยภาษีเดียวกัน ดังนั้น ในส่วนของเงินบริจาคไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในนามของสามีหรือภริยา สามีมีสิทธินำเงินบริจาคทั้งในส่วนของตนเองและในส่วนของภริยามาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
อย่างไรก็ตาม  หากสามีใช้สิทธิเลือกไม่นำเงินได้ในส่วนของตนทั้งหมดมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามีไม่มีสิทธิ์นำเงินบริจาคในส่วนของตนเองมาหักลดหย่อน แต่มีสิทธิ์นำเงินบริจาคเฉพาะส่วนของภริยามาหักลดหย่อนได้เท่านั้น

การบริจาคเงินให้โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดตามศาสนาอิสลาม และวัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศ

คำถาม :   บริจาคเงินให้วัดวาอาราม รวมถึงวัดในต่างแดน และทุกศาสนา นำมาหักค่าลดหย่อนได้หรือไม่

คำตอบ :   การบริจาคให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศ ผู้บริจาคไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ ส่วนการบริจาคให้วัด (ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505) โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดตามศาสนาอิสลาม ที่ตั้งในไทย สามารถหักลดหย่อนได้ ได้ ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร

การบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ให้แก่โครงการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ

คำถาม :   บุคคลธรรมดาบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ให้แก่โครงการพัฒนาเด็กไทยด้วย ICT ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีสิทธิหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้หรือไม่

 

คำตอบ :   ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนบริจาคได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว เพราะถือเป็นการบริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ หรือสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

บุคคลธรรมดาบริจาคทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา

คำถาม :   บุคคลธรรมดาบริจาคทรัพย์สิน เช่น คอมพิวเตอร์ ให้แก่สถานศึกษา สามารถนำมูลค่าของทรัพย์สินที่บริจาคมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่

คำตอบ :   บุคคลธรรมดาบริจาคทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา ไม่สามารถนำมูลค่าของทรัพย์สินมาหักลดหย่อนได้ แต่หากบริจาคเงินเพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว และหากเป็นการบริจาคให้แก่โครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการที่กำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่า แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าวแล้ว

บุคคลธรรมดาบริจาคเงินทำบุญทอดกฐิน

คำถาม :   บุคคลธรรมดาบริจาคเงินทำบุญทอดกฐินที่วัด สามารถนำหลักฐานการบริจาคที่วัดออกให้มาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

คำตอบ :   หากบุคคลธรรมดาบริจาคเงินทำบุญทอดกฐินที่วัดที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีสิทธินำเงินบริจาคดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้

คำถาม :   นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีเงินภาษีต้องชำระ จำนวน 500 บาท แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต่อมาต้องการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ได้แสดงความประสงค์ไว้ สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใหม่ได้หรือไม่

คำตอบ :   ไม่ได้  เมื่อผู้เสียภาษีแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176)
อย่างไรก็ตาม  หากผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ฉบับปกติ ไม่ได้แสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใด ต่อมาผู้เสียภาษีมีความประสงค์จะแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้