รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?

            ปัญหาในการพิจารณาว่า รายจ่ายใดเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานที่จะตัดจ่ายในปีที่เกิดรายจ่ายได้   เป็นค่าใช้จ่ายในในรอบระยะเวลาบัญชีทีเกิดรายจ่ายนั้นเลย

            กับรายจ่ายใดเป็น รายจ่ายฝ่ายทุน ที่ต้องบันทึกตั้งเป็นทรัพย์สิน และหักค่าใช้จ่ายในบัญชี ค่าเสื่อมราคา / ค่าเสื่อมราคาสะสม / มีมูลค่าซาก

           ยังคงเป็นหัวข้อให้โต้แย้งเสมอ แม้รายการหลักๆ ที่ชัดเจนแล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็ตาม แต่รายการรายจ่ายบางรายการอาจเป็นปัญหา เช่น รายจ่ายค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา รวมทั้งประเด็นดอกเบี้ยจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

          จำนวนแค่ไหนที่ต้องนำมารวมเป็นต้นทุนทรัพย์สิน จำนวนแค่ไหนที่สามารถตัดเป็นรายจ่ายในรอบระยะเยเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายได้ เป็นต้น

          บางกิจการมีนโยบายว่า สินทรัพย์ที่ซื้อมาถ้าราคาต่ำว่า 2,000 บาท ให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายประจำรอบบัญชี ไม่บันทึกเป็น รายจ่ายฝ่ายทุน ถูกต้องสมควรตามการพิจารณาของกรมสรรพากรหรือไม่

         หรือในบางกิจการ รายการจ่ายซื้อสินทรัพย์มีมากมาย มูลค่าต่อชิ้นไม่มาก เช่น กิจการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร คลินิก เช่น จาน ช้อน ส้อม ผ้าปูโต๊ะ ถาดอาหาร ถาดใส่เครื่องมือแพทย์  เหล่านี้ ควรต้องบันทึกเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำรอบบัญชี และควรบันทึกอย่างไรให้ถูกต้อง

          จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?​

รายจ่ายฝ่ายทุน : ถามตอบ

รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนแตกต่างจากรายจ่านในการดำเนินงานอย่างไร

ประเภทรายจ่ายทั้งสองดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทั้งในทางบัญชีและภาษีอากร ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับรายจ่ายทั้งสองประเภทได้ดังนี้

  1. รายจ่ายฝ่ายทุนหรืออันมีลักษณะเป็นการลงทุน (Capital Expenditure)

    หมายถึง รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการหรือเพื่อการหารายได้ ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น

         (1) ทรัพย์สินถาวรที่มีรูปร่าง เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น

         (2) ทรัพย์สินถาวรที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิการเช่า ค่าสัมปทาน ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิทั้งปวง เป็นต้น

  1. รายจ่ายในการดำเนินกิจการ หมายถึง รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจอันก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อจ่ายรายจ่ายดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ หากแต่ใช่สิ้นเปลืองหมดไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ เป็นต้น หรือแม้ได้กรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์สินก็จะมีอายุการใช้งานไม่เกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (12 เดือน) เช่น ไม้กวาด กระดาษชำระ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมีคุณสมบัติอย่างไร

คุณสมบัติของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มีดังนี้

  1. เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ (Ownership Principle) ในทรัพย์สินแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ตาม รวมทั้งสิทธิอื่นๆ อาทิ สิทธิการเช่า สิทธิการใช้งานในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางกฎหมายภาษีอากรเรียกว่า “เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดทุนรอน” แก่กิจการ รวมทั้งรายจ่ายในการต่อเติม ค่าเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน รายจ่ายในการขยายออก และรายจ่ายในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นกว่าวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
  2. เป็นทรัพย์สินหรือแม้เป็นรายจ่ายที่จะไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ แต่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามหลักประโยชน์ใช้สอย (Benefit Principle) ซึ่งตามหลักการบัญชีกำหนดให้นำมาบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สิน และตัดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา อันตรงกันกับข้อกำหนดทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่ห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน ตามมาตรา65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยอมให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในรูปของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
  3. เป็นรายจ่ายที่มีนัยสำคัญ (Material Principle) กล่าวคือ เป็นรายจ่ายที่มีจำนวนเงินมากเพียงพอที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินของกิจการ เช่น จำนวนเงินที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินต้องมีจำนวนตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้ อาทิ ไม่น้อยกว่า 2,000 บาท หรือ 10,000 บาท แล้วแต่กรณี ซึ่งเงื่อนไขหรือคุณสมบัติในประการนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับในทางภาษีอากร
ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติห้ามมิให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนดังต่อไปนี้  มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ทางภาษีอากร) เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในทางบัญชีอย่างยิ่ง

          (1) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน (Cost of Acquisition of Asset) หมายถึง ต้นทุนในการซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังนี้ 

                (ก) ค่าซื้อทรัพย์สิน ต้นทุนทรัพย์สินที่ได้จากการแลกเปลี่ยน

                (ข) ค่าอากรขาเข้า  ค่าภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน

                (ค) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมทั้งทรัพย์สินที่มิได้มีไว้เพื่อการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม   เช่น   กิจการธนาคารพาณิชย์  กิจการเงินทุน  กิจการหลักทรัพย์ กิจการเครดิตฟองซิเอร์ กิจการประกันภัย กิจการโรงรับจำนำ กิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ และกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ

                (ง) ค่าขนส่งขาเข้า (Transportation Fee)

                (จ) ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (Installation Fee)

                (ฉ) ค่าใช้จ่ายในการทดลองเดินเครื่องจักร (Running Test) หักด้วยรายได้จากการขายผลิตผลที่ได้จากการทดลองเดินเครื่อง (By Product)   

                (ช) ค่าโสหุ้ยต่างๆ (Overhead) 

                (ซ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้

                (ฌ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า อาทิ เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ ซึ่งตอบแทนสิทธิการเช่าอันมีระยะเวลา

                (ญ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการต่อเติม (Addition)

(2) รายจ่ายในการต่อเติม (Addition) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการต่อเติมส่วนต่างๆ ของทรัพย์สินซึ่งมักเป็นการต่อเติมส่วนบนของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการต่อเติมอาคารจากเดิมซึ่งมีสี่ชั้นเป็นหกชั้น ค่าต่อเติมหลังคาของรถกระบะ ค่าต่อเติมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง (Alteration)

 (3) รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง (Alteration) หมายถึง รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการกั้นห้อง ค่าทุบทำลายฝากั้นห้อง เจาะประตู หน้าต่าง ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถยนต์บรรทุกหรือรถยนต์โดยสารให้เป็นรถยนต์นั่ง เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการขยายออก (Extension)

  (4) รายจ่ายในการขยายออก (Extension) หมายถึง รายจ่ายในการขยายทรัพย์สินออกไป ซึ่งมักขยายออกไปทางด้านข้าง เช่น รายจ่ายในการขยายอาคารโรงงาน เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม (Betterment)

รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม

(Betterment) หมายถึง รายจ่ายในการทำให้คุณภาพ หรือสภาพของทรัพย์สินดีขึ้นไปกว่าสภาพ ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาที่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพ (Physical) ของทรัพย์สิน

เช่น รายจ่ายในการเปลี่ยน software คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมสั่งงานหรือควบคุมเครื่องจักร   ค่าเปลี่ยนกระทะครอบล้อรถทั่วไปเป็นแมกเนติกที่ไม่เป็นสนิม

กรณีซื้อบ้านหรือรับโอนบ้านหรืออาคารเก่ามาจากบุคคลอื่น ต่อมาได้ทำการปรับปรุงโดยการทาสีใหม่ หรือซ่อมเสริมส่วนที่ชำรุด หรือกรณีซื้อรถยนต์หรือเครื่องยนต์เก่ามาทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อันมีผลให้สภาพของรถยนต์หรือเครื่องจักรดีขึ้น เป็นต้น 

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน ดอกเบี้ยจ่าย

ดอกเบี้ย (Interest Expense) จากการกู้ยืมเงินที่ได้จ่ายไปในระหว่างซื้อทรัพย์สินหรือก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งทรัพย์สิน หรืออาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นพร้อมที่จะใช้งาน รวมทั้งดอกเบี้ยเนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อที่ดิน

ความแตกต่าง ค่าซ่อมแซม และ รายจ่ายฝ่ายทุน

รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน มีลักษณะใกล้เคียงกับค่าซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม
หลักในการพิจารณาค่าซ่อมแซม เพื่อบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด คือ
ต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอของทรัพย์สิน โดยไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นมีสภาพดีกว่าสภาพเดิม ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา คือซ่อมให้ใช้งานต่อเนื่องได้ตามสภาพปัจจุบัน
เช่น ซ่อมรถยนต์ใหม่มาใช้งานในกิจการ การเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่แทนของเก่าที่ใช้งานมานาน หรือการซ่อมแซมทรัพย์สินแตกหัก ให้กับมาใช้งานได้ เปลี่ยนล้ออุปกรณ์เครื่องเลเซอร์ เปลี่ยนบานพับประตู
แต่ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากน้ำมัน เป็นติดแก๊สเพื่อให้ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทรัพย์สินใช้งานได้ดีขึ้น ถือว่าเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน คิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคา

ทรัพย์สินที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ทรัพย์สินที่ยังสร้างไม่เสร็จ เช่น บริษัทฯ ก่อสร้างไซโลปูนเม็ดลงเรือทะเล เพื่อใช้ในการขนถ่ายซีเมนต์ไปจำหน่ายในต่างประเทศ แต่สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง จึงได้พักการก่อสร้างไว้ และต่อมาก็ไม่ได้ก่อสร้างต่อ สิ่งก่อสร้างดังกล่าวใช้ประโยชน์ใดๆ ไม่ได้เลย เช่นนี้

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไซโลดังกล่าว ถือเป็นรายข่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

และไม่อาจนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เพราะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริษัทฯ จึงไม่ได้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น 

แต่อย่างไรก็ตามหากบริษัทฯ รื้อหรือทำลายสิ่งก่อสร้างดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ย่อมนำมูลค่าสิ่งก่อสร้างมาหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น  

ปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อใช้ในการลงทุนในทรัพย์สินเป็นต้นทุนสินทรัพย์ หรือเป็นค่าใช้จ่ายประจำรอบ

อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ไว้ดังต่อไปนี้

  1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้
  2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปฏิบัติดังนี้

         (1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

         (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

         กรณีที่เงินกู้มานั้นได้นำไปใช้เพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือใช้ใน    กิจการอื่น ๆ รวมกัน ในการคำนวณตาม (1) และหรือ (2) ให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนที่   เกี่ยวกับการซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมาคำนวณเท่านั้น

  1. เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 2(2) แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก
รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัท หรือรายจ่ายเกิดก่อนการก่อตั้งบริษัท แต่เพื่อกิจการ

ค่าธรรมเนียม เช่น ฎีกาที่ 2510/2530 บริษัทธีรชัยสตีล จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร จำเลย ค่าซื้อที่ดินเป็นรายจ่ายลงทุน ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินก็เช่นกัน จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร  

     รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัทฯ เช่น รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัทฯ หากมีลักษณะเป็นการลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องหักค่าเสื่อมราคา (ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิประกอบการตามใบอนุญาตหรือสิทธิอย่างอื่น)

          สำหรับรายจ่ายก่อนก่อตั้งบริษัทฯ ในส่วนที่ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งบริษัทฯ ได้ให้สัตยาบรรณตามมาตรา 1018 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้นำไปหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีปีแรก ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎาก

เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า

เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า ถือเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า ซึ่งเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และยอมให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามจำนวนปีแห่งอายุการเช่า   

ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทรัพย์สินสัมพันธ์กับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนอย่างไร

กรมสรรพากรวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทรัพย์สินดังนี้

  1. ทรัพย์สินที่สร้างขึ้นใหม่แทนทรัพย์สินเดิมที่รื้อถอนออกไปรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทรัพย์สินใหม่ เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ 11.30/2522 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2522)
  1. บริษัทฯ ขยายกิจการ จำเป็นต้องรื้อถอนทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทรัพย์สินขึ้นใหม่ ให้ถือปฏิบัติดังนี้

         (1) ทรัพย์สินที่รื้อถอนให้หักเป็นรายจ่ายเท่ากับมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหนืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคาแล้ว ถือเป็นค่าของทรัพย์สินที่สูญหรือสิ้นไปตามมาตรา 65 ตรี (16) แห่งประมวลรัษฎากร

         (2) รายจ่ายในการรื้อถอนและรายจ่ายที่ก่อสร้างทรัพย์สินใหม่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/16139 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523)

ค่าใช้จ่ายในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ค่าใช้จ่ายในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/6413 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2529)

ค่าซื้อรถยนต์โดยการเช่าซื้อ

ค่าซื้อรถยนต์โดยการเช่าซื้อ ราคาที่ผ่อนชำระและดอกเบี้ยถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/2114  ลงวันที่ 30 มกราคม 2524) ซึ่งยอมให้หักค่าสือหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทั้งสิ้นต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527

มูลค่าของทรัพย์สิน มีผลต่อการเลือกที่จะบันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินกิจการหรือไม่อย่างไร

ในทางภาษีอากรไม่คำนึงถึงมูลค่าของทรัพย์สินที่จะบันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินกิจการ

ดังเช่นในหลักการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปที่มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความมีนัยสำคัญของจำนวนเงินที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สิน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายทางบัญชีของแต่ละกิจการ ตัวอย่างเช่น    

     แม้ทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีมูลค่าเป็นจำนวนมากถึง 726 ล้านบาท  บริษัทฯ ก็ไม่อาจนำทรัพย์สินแต่ละรายการที่มีค่าไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าเล็กน้อยมาถือเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

     แต่เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติบริษัทฯ จะนำทรัพย์สินที่ได้มาใหม่ ไม่ว่าจะมีมูลค่าเกินกว่า 2,000 บาทหรือต่ำกว่า 2,000 บาท มาตั้งเป็นบัญชี ทรัพย์สินกลุ่มเดียวกันในบัญชีเดียวกันได้ และในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปีแรกที่ได้ทรัพย๎สินนั้นมา ให้คำนวณหักตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา  (ทีละรายการ)

      ส่วนในปีต่อๆ ไป บริษัทฯ สามารถคิดค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคาจากยอดรวมทรัพย์สินกลุ่มนั้นได้เต็มปี และถ้าหากทรัพย์สินรายการใดเสื่อมสภาพหรือสูญหาย บริษัทฯ ก็สามารถตัดหรือจำหน่ายเฉพาะรายการนั้นออกจากบัญชีทรัพย์สิน(เพื่อถือเป็นรายจ่าย) ตามยอดคงเหลือในบัญชีได้ (หนังสือตอบกรมสรรพากรที่ กค 0810/542 ลงวันที่ 14 มกราคม 2518 )

ค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด

ค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/420 ลงวันที่ 16 มกราคม 2532)

ค่าธรรมเนียมในการจำนองที่ดินที่บริษัทฯ จ่ายให้ธนาคารเพื่อนำไปปลูกสร้างอาคาร ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/5822 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2532)