สรุปความรู้เบื้องต้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สรุปความรู้เบื้องต้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทุกประเภท ทั้งธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิต ธุรกิจบริการ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือ ภาษี ประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้าโดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ ปัจจุบันเราจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในอัตราคงที่ 7% (ซึ่งคำนวณมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7%)

ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการต่างๆ ที่เป็นคนสุดท้าย รวมถึงการเก็บภาษีทุกขั้นตอนของการผลิตหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการ จากนั้นผู้ประกอบการจะนำภาษีที่เก็บได้ส่งให้กับสรรพากรทุกเดือน

สรุป 

              ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศหรือเป็นผู้ได้รับบริการคนสุดท้าย  
              ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้บริโภคคนสุดท้ายจะจ่ายภาษีซื้อ 7% ในตอนซื้อสินค้า  และเรียกเก็บภาษีขาย 7% ในตอนขายสินค้า
               เมื่อสิ้นเดือน กิจการจะต้องรวบรวม ภาษีซื้อ ที่เกิดจากรายได้ในการขายและบริการ และภาษีขาย ที่เกิดจากซื้อสินค้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักลบกัน  ผลต่าง หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจะเป็น ลูกหนี้-สรรพากร  สามารถขอคืนเงินสด หรือ นำไปใช้ในเดือนถัดไป หรือ  ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ  จะเป็น  เจ้าหนี้-สรรพากร ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (ยื่น online  ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ

ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถขอเข้าสู่ระบบ VAT ได้

1.  การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ี

       2.   การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นต้น ( คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป .28/2535 ฯ )

       3.   การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น โค กระบือ ไก่หรือเนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.29/2535ฯ)

       4.   การขายปุ๋ย

       5.   การขายปลาป่น อาหารสัตว์

       6.   การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์

       7.   การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

ผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย (เข้าระบบ VAT ไม่ได้)

 8.   การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.

       9.   การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

      10.   การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ อย่างไรก็ดี หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้

      11.   การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล

      12.   การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน

      13.   การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

      14.   การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

      15.   การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ

      16.   การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ

      17.   การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

      18.   การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ

      19.   การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

      20.   การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

      21.   การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

      22.   การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

      23.   การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

      24.  การขายสินค้า หรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
             ( พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 )

วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

แบบคำขอที่ใช้ในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แบบ ภ.พ.01 ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(เขต/อำเภอ) หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำหรับในจังหวัดอื่นขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(อำเภอ) ทุกแห่ง

2. เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(1) คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ

(2) สำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว

(3) บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว

(4) สัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ และหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นเจ้าบ้าน, สัญญาซื้อขาย, คำขอหมายเลขบ้าน, ใบโอนกรรมสิทธิ์, สัญญาเช่าช่วง พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการและภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

(5) หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)

(6) หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นนิติบุคคล)

(7) บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

(8) แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป และภาพถ่ายสถานประกอบการจำนวน 2 ชุด

(9) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

กำหนดเวลาจดทะเบียน

1. ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบการมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การสร้างอาคารสำนักงานหรือการติดตั้งเครื่องจักร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ

2. ผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษี-มูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่

(1) รายงานภาษีซื้อ

(2) รายงานภาษีขาย

(3) รายงานสินค้าและวัตถุดิบ

3. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30

  • ช่องทางการยื่นผ่านระบบกระดาษ และ อินเตอร์เนท
  • การยื่นแบบฯและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ 1-5 และสำนักงานสรรพสามิตสาขาสำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้อง  เสียทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม 
  • การยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้า สินค้าสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าที่นำเข้าสินค้า

แบบแสดงรายการที่ใช้

(1) แบบ ภ.พ.01 แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(2) แบบ ภ.พ.02 แบบคำขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน

(3) แบบ ภ.พ.02.1 แบบคำขอยกเลิกการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน

(4) แบบ ภ.พ.04 แบบคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(5) แบบ ภ.พ.08 แบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(6) แบบ ภ.พ.09 แบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(7) แบบ ภ.พ. 30 ใช้สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี กรณีเดือนภาษีใดมีจำนวนภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ผู้ประกอบการจะได้รับคืนภาษี และสามารถใช้แบบ ภ.พ. 30 นี้เป็นคำขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(8) แบบ ภ.พ.30.2 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีปรับปรุงภาษีซื้อที่เฉลี่ยตามส่วน ของรายได้

(9) แบบ ภ.พ.30.3 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีปรับปรุงภาษีซื้อที่เฉลี่ยตามส่วน ของการใช้พื้นที่อาคาร

(10) แบบใบขนสินค้าขาเข้า ใช้สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม ผู้นำเข้าต้องชำระภาษีพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(11) แบบ ภ.พ.36 ใช้สำหรับผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีดังต่อไปนี้

               (ก) ผู้จ่ายเงินที่จ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่

               – ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว หรือ

               – ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

               (ข) ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในอัตราร้อยละ 0 ได้แก่ การรับโอนสินค้าหรือรับโอนสิทธิในบริการ ที่ได้มีการขายหรือให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ทั้งนี้เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

                (ค) ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน

กำหนดเวลา สถานที่ยื่นแบบและการชำระภาษี

1.   กำหนดเวลายื่นแบบ

(1)   ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) เป็นรายเดือนทุกเดือนภาษี ไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ในกรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน (ภ.พ.02) เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ก็สามารถยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกันได้ตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(2)   การนำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าต้องยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้าสินค้า

(3)   ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร หรือผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 7 วันนับแต่วันที่จ่ายเงินหรือวันรับเงินจากการขายทอดตลาดแล้วแต่กรณี ปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือผู้ประกอบการ และยื่นรายการ แล้วแต่กรณี

(4)   กรณีผู้รับโอนสินค้า หรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ให้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้นำส่งและยื่นรายการภายใน 7 วัน นับแต่วันสื้นเดือนของเดือนที่ครบกำหนด 30 วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

(5)   กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมได้อีกพร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ให้ถูกต้องครบถ้วน ณ หน่วยงานที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อน